ร้องจะต้องไป 10 โลเคชั่น ตามรอยบุพเพสันนิวาส

Last updated: 13 ก.ค. 2562  |  8773 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ร้องจะต้องไป 10 โลเคชั่น ตามรอยบุพเพสันนิวาส

เที่ยวตามรอยละครบุพเพสันนิวาส
สวัสดีครับออเจ้าทั้งหลาย ช่วงนี้หลายๆ คนเมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้วคงจะรีบบึ่งกลับบ้านไปเฝ้าหน้าจอทีวีกันเป็นแถว เพราะในตอนนี้คงไม่มีอะไรฮิตไปมากกว่าละครบุพเพสันนิวาสอีกแล้ว

ซึ่งความสนุกเข้มข้นของเนื้อเรื่องละครนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะสนุกจนทำให้หลายๆ คนติดจนงอมแงม แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้จากละครเรื่องนี้คือเนื้อหาในด้านประวัติศาสตร์

และโลเคชั่นสถานที่ถ่ายทำสวยๆ ที่ยกกองกันไปถ่ายทำในสถานที่จริงของหลายจังหวัดทั้งพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี

วันนี้ Ayutthaya boat trip จะพาทุกคนไปตามรอย 10 โลเคชั่น จากละครบุพเพสันนิวาสกันครับที่แรกไปกันเลยเริ่มที่

1.เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ



หากพูดถึงเมืองโบราณจังหวัดสมุทรปราการนั้น บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า ที่นี่คือเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของหนังและละครไทยหลายๆ เรื่อง ที่นี่คือสถานที่ถ่ายทำละครและหนังย้อนยุคมาหลายเรื่องแล้ว

และเช่นกัน ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้เมืองโบราณแห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ และถ่ายทอดบรรยากาศแห่งตลาดน้ำสมัยโบราณออกมาได้อย่างสมจริง

ใครที่อยากรู้ว่าฉากไหนในละครที่ถ่ายทำในเมืองโบราณลองย้อนไปชมกันครับ

2.วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา



ถือเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียวสำหรับฉากวัดไชยวัฒนารามที่ปรากฏอยู่ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เนื่องจากมีการใช้ซีจีในการเนรมิตวัดเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ทั้งป้อมปราการ ศาสนสถานภายในวัดล้วนถูกบูรณะตกแต่งใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความงดงามในแบบฉบับไทยๆ

ใครที่อยากจะเห็นว่าวัดไชยวัฒนารามของจริงนั้นเป็นอย่างไร สวยงามเหมือนในละครหรือไม่ ลองไปดูของจริงกันครับ รับรองว่าสมบัติของชาติเรานั้นยิ่งใหญ่งดงามแน่นอน

3.วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา




วัดพุทไธศวรรย์ วัดสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ในการสถาปนากรุงศรีอยุธยา

และต่อมาในช่วงเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง วัดพุทไธศวรรย์ได้ถูกทำลายไปโดยกองทัพของพม่า แต่โดนทำลายไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ ในเขตกรุงศรีอยุธยา ทำให้วัดแห่งนี้ความสมบูรณ์และสวยงามคงอยู่มาถึงทุกวันนี้

ซึ่งในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้นก็ได้ใช้ฉากหลังของวัดพุทไธศวรรย์แห่งนี้เป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำด้วย

4.เพนียดคล้องช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา



ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเราจะได้เห็นฉากต่อสู้หนึ่งที่มีเบื้องหลังคือเพนียดคล้องช้างซึ่งสถานที่ถ่ายทำแห่งนี้ก็คือ เพนียดคล้องช้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง

ด้วยความที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อนุรักษ์และรักษาเพนียดคล้องช้างแห่งนี้ให้อยู่ในสภาพเหมือนกับสมัยโบราณมากที่สุด ทำให้ที่นี่กลายเป็นโลเคชั่นที่ดีในการถ่ายทำละครย้อนยุคหลายๆ เรื่อง

และมีชาวต่างชาติรวมถึงชาวไทยเดินทางไปเที่ยวชมเจ้าช้างแสนรู้ที่เพนียดคล้องช้างแห่งนี้กันเป็นจำนวนมากในแต่ละวันอีกด้วย

5.ป้อมเพชร จ.พระนครศรีอยุธยา



ป้อมเพชรแห่งนี้คือป้อมปราการสำคัญในยุคกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารอยต่อแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับวัดพนัญเชิงวรมหาวิหาร

ในอดีตป้อมเพชรแห่งนี้เป็นปราการด่านสำคัญที่คอยสกัดไม่ให้ข้าศึกผู้มารุกรานผ่านทางแม่น้ำนั้นรุกล้ำเข้าไปสู่พระนครได้ 

และในละครบุพเพสันนิวาสนั้นก็มีหลายๆ ฉากที่ถ่ายทำกันที่ป้อมเพชรแห่งนี้ด้วย ลองสังเกตดูกันครับว่ามีฉากไหนบ้าง


Advertisement
6.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



แน่นอนว่าละครย้อนยุคในช่วงยุคสมัยอยุธยานั้น มักจะมีโลเคชั่นการถ่ายทำในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้

และละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเองก็ได้ชื่อว่าเป็นละครที่ถ่ายทำในสถานที่จริงอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีฉากที่เราได้เห็นกันในละครเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้

ซึ่งความขลังของสถานที่ที่ถ่ายทอดออกมาสู่สายตาประชาชนผ่านจอทีวีนั้น เป็นพลังที่ทำให้หลายๆ คนอินตามไปกับเรื่องนี้ ประหนึ่งว่าได้ย้อนเวลากลับไปรับรู้เรื่องราวของคนในอดีตเลยทีเดียว

7.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา




สถานที่แห่งนี้ได้เก็บรวบรวมสมบัติล้ำค่าในอดีตของประเทศไทยไว้อย่างมากมาย ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ และวัตถุโบราณต่างๆ เก็บรวบรวมไว้ที่นี่

ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยานี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

เราขอแนะนำเลยว่า หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ต้องห้ามพลาดที่จะมาที่นี่

8.หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน จ.สระบุรี



ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้นคุณจะได้เห็นหลายๆ ฉากที่ถ่ายทำบนเรือนไม้สมัยโบราณ ซึ่งสถานที่ถ่ายทำนั้นก็คือ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนนั่นเอง

บ้านไม้ทรงไทยสมัยโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดย คุณทรงชัย วรรณกุล ซึ่งต้องการจะอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยวนเอาไว้

โดยเริ่มจากการรวบรวมบ้านไม้โบราณ เช่น เรือนเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

9.วัดเชิงท่า จ.พระนครศรีอยุธยา



ภายในวัดเชิงท่าแห่งนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยศาสนสถานและวัตถุโบราณที่มีค่าอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งพระปรางค์ห้ายอดสมัยอยุธยา ซึ่งมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนที่อื่น หาชมที่อื่นไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีซากปรักหักพังของศาสนสถานภายในวัดที่เป็นเครื่องหมายแห่งความเก่าแก่และโบราณของวัดนี้ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ศึกษาของนายสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงทรงพระเยาว์อีกด้วย

ลองสังเกตกันดูดีๆ นะครับ ว่าในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้มีฉากไหนที่ถ่ายทำในวัดเชิงท่าแห่งนี้กันบ้าง รับรองหาไม่ยากแน่นอน

10.วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา



วัดธรรมารามแห่งนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำลพบุรี ในอดีตความสำคัญของวัดนี้ เคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นในการตั้งค่ายของพม่าที่มารุกรานประเทศไทย เรื่องจากมียุทธภูมิที่ดี

และเมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า วัดแห่งนี้ก็ได้ถูกเผาทำลายลงไปด้วย แต่ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ในปัจจุบันวัดธรรมารามได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง

ตามรอย 10 โลเคชั่นสวยจากละครบุพเพสันนิวาส
ขอขอบคุณ

ภาพ : EDT sanook มิวเซียมสยาม,เมืองโบราณ สมุทรปราการ,วังช้างอยุธยา แล เพนียด Ayutthaya Elephant Palace & Royal Kraal,Kalyarat Kalyarat,Napatrapee Manmak,ป้อมเพชร อยุธยา,อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา,เราฮักสระบุรี,weloveayutthaya,weloveayutthaya,ช่อง 3

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้